พญานาคนั้นหากเราจะแบ่งอย่างคร่าวๆ ตามตำราทั่วๆ ไป จะแยกตามสีลำตัวออกมาเป็นตระกูลต่างๆ
4 ตระกูลใหญ่ คือ
- ตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง
- ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว
- ตระกูลฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง
- ตระกูลกัณหาโคตมะ พญานาคตระกูลสีดำ
เชื่อกันว่ามีวิมานอันเป็นทิพย์อยู่ในเมืองบาดาล มี 14 ชั้น ตรงนี้ก็เป็นที่มาในการจุดธูปบูชาองค์พญานาคราช จะเปิดขอพรในชั้นบาดาลให้จุด 14 ดอก แต่ถ้าจะจุดในส่วนอื่นจะกี่ดอกก็แล้วแต่จะพิจารณาตามตำราที่เชื่อถือกันมาอีกที ขอให้จิตดีเป็นพื้นฐานพรนั้นย่อมให้ผลได้ไม่เกินกรรม
ส่วนการดูแลแต่ละชั้นขององค์พญานาคราช จะแบ่งการปกครองเป็นออกเมืองๆ ไป นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งตามการเกิดได้อีก เช่น เกิดจากไข่ เกิดเป็นตัว เป็นต้น ดังนั้นในตระกูลหลักเหล่านี้ ก็จะมีวงศ์ย่อยลงมาในส่วนต่างๆ ที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงกันอีก อย่างที่เราจะเห็นว่ามีการอ้างถึงเพชรพญานาคหรือมณีใต้น้ำ สีต่างๆ ที่ดูหลากหลาย แต่จากตำราทั่วไปก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจนนัก จริงบ้างไม่จริงบ้างก็พิจารณากันดู ยุคนี้อ้างสายญาณกันมากมาย ดูง่ายๆ เอาคนที่มีธรรมนำการใช้ชีวิต ใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับความเป็นปกติของโลกได้
พญานาคในเมืองไทยส่วนมากที่นับถือกัน จะเป็นตระกูลเอราปถ คือตระกูลที่มีสีเขียว สีอื่นก็มีแต่ตระกูลนี้จะโดดเด่นเป็นพิเศษ เพราะตระกูลนี้ชอบความคึกคักมีความใกล้ชิดมิติมนุษย์มากกว่าสีอื่น หากตรงไหนค้าขายดีๆ มีบูชาพญานาคส่วนมากลองสังเกตดูจะเป็นสีนี้ สีอื่นมักจะบำเพ็ญเพียรเป็นหลักและออกมาช่วยเหลือผู้คนเป็นช่วงๆ มาทีก็เป็นเรื่องใหญ่ๆ ไปเลยอย่างช่วงนี้เป็นต้น
การเกิดที่ต่าง ตระกูลที่ต่างก็ ทำให้มีลักษณะทางกายภาพและฤทธิ์ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ถิ่นที่อยู่ที่ต่างก็ทำให้เงื่อนไขเหล่านี้แตกต่างกันออกไปด้วย คือ ปกติเรามักจะเข้าได้ว่าพญานาคอยู่ในเมืองบาดาล ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว แต่เป็นความเข้าใจเพียงส่วนเดียว เพราะอันที่จริงหากศึกษาไปในหลายๆ ตำนานจะทราบว่าท่านพญานาคราชทั้งหลายล้วนมีถิ่นอาศัยที่แตกต่างกัน บ้างก็อยู่ในเมืองบาดาล บ้างก็อยู่ในอากาศ บ้างก็มีถิ่นที่อยู่ตามภูเขา บ้างก็อาศัยอยู่ในมหาสมุทร หรือบางส่วนก็อยู่ในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีผลสอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพ นิสัยและฤทธิ์ที่ให้ผลต่างกันออกไป
อีกส่วนหนึ่ง คือ จำนวนเศียร อย่างที่เราเห็นตามวัดวาอาราม และลักษณะหน้าของพญานาคที่แตกต่างกันก็มีฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจะเชื่อ จะศรัทธา หรือจะดูเป็นงานศิลปะ ถ้าเราเข้าใจเบื้องต้นเหล่านี้อย่างน้อยเราก็สามารถขอพรตามความเชื่อ หรือความศรัทธาได้อย่างถูกต้องตรงตามลักษณะของท่านทั้งหลายที่ถูกสร้างไว้ตามที่สำคัญต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และก็ได้ดูงานศิลปะอย่างเข้าใจในที่มาที่ไปในการที่ช่างสร้างสรรค์งานขึ้นมาได้ด้วย
พญานาคโดยทั่วไปก็เป็นโอปปาติกะ คือ มีกายทิพย์ กายสิทธิ์ อยู่อีกภพภูมิหรือมิติหนึ่ง ในพุทธศาสนาจำแนกไว้ว่าเป็นเทพในชั้นจตุมหาราชิกา อยู่ภายใต้การปกครองของท้าววิรูปักษ์เทวราชแห่งสวรรค์ทิศตะวันตก ซึ่งหากศึกษาหลายๆ ตำนานที่ต่างกันออกไป นอกจากท่านท้าววิรูปักษ์เทวราชแล้ว ก็ยังมีเทวราชในส่วนอื่นที่แบ่งตามชั้นต่างๆ ตามถิ่นที่อยู่อาศัยอีกต่างหาก เนื่องจากพญานาคมีจำนวนมากอยู่กันเป็นเมืองๆ จึงมีการปกครองที่แตกต่างกัน และการปกครองนั้นๆ ก็ย่อมมีผู้ปกครองใหญ่คอยดูแลอีกที เป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ ไม่ต่างจากการปกครองในโลกมนุษย์
หน้าที่หลักของท่านพญานาคราชทั้งหลาย คือบำเพ็ญเพียร ปกป้องดูแลให้พระธรรมยังคงอยู่คู่โลก และเป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผู้บำเพ็ญบุญในโลกมนุษย์ด้วย ดังนั้น จึงมีหน้าที่ให้พรและช่วยเหลือผู้มีบุญ มีกุศล และผู้ร้องขอทั้งหลายที่ได้รับความชอบธรรมแล้วให้สำเร็จสมประสงค์ ในส่วนที่เกี่ยวพันกับท่าน
ผู้ที่สามารถจะมีญาณพบเห็นพญานาคได้นั้นต้องเคยมีสายญาณหรือมีบุรพกรรมร่วมกับท่านมาจึงจะสามารถรับรู้ถึงกันและกันได้ ทุกอย่างล้วนต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาต่อกันมาตั้งแต่อดีตกาลทั้งนั้น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จึงจะช่วยเหลือเกื้อกูลหรือติดต่อสื่อสารถึงกันได้ ไม่ใช่ว่าใครนึกจะเป็นก็เป็น อยู่ดีๆ ก็เลื้อยขึ้นมาซะอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่
หากเราเข้าใจ…ตามจริงที่ว่า โลกนี้ไม่ได้มีแค่เราเท่านั้น ในการไปกราบไหว้สักการะในที่ใดๆ หรือเดินทางไปในที่ต่างๆ ในทุกมิติที่เราอาจจะเหยียบย่างไปถึง ก็ควรไปด้วยความนอบน้อม จะโลกนี้หรือโลกไหนๆ ใครๆก็เมตตาผู้ที่มีความถ่อมตนมิใช่หรือ
เพราะจริงๆ แล้วเราจะนับถือหรือไม่ เราจะรับรู้ได้หรือไม่ อีกมิติหนึ่งเค้าอาจไม่ได้ใส่ใจ หากมิตินี้มีอยู่มันก็มีอยู่อย่างนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง มีแต่เราที่เปลี่ยนไปตามความมืดบอดแห่งปัญญา
เมื่อรู้และเข้าใจโดยองค์รวมเหล่านี้แล้ว หากเราจะนับถือบูชาก็จะทำได้ถูกกาละเทศะมากขึ้น แล้วตอนหน้าเราจะมาสู่เรื่องหน้านาคต่างๆ ที่เราเห็นตามวัด ทำไมถึงใช้แตกต่างกันและที่ต่างกันนั้นคนทำเค้าสื่อนัยยะถึงอะไร…โปรดติดตามตอนต่อไป
Leave a Reply