เสี้ยวหนึ่งในทวารปุระ Ep.3

www.wallpapersfan.com

บางทีความพอดีก็เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
สิ่งที่เราทำตามสัญชาตญาณความรู้สึก..มันก็เป็นสัญญะบางอย่างได้

“จะไปกันรึยัง” ดร.เอนก ถาม
“ไปสิ มันอยู่ไกลมั้ย” ผมถามเรียบๆ แล้วก้าวขึ้นรถทันที  เพื่อนก็ขับพาไปถามนู่นนี่สารทุกข์สุขดิบตลอดทาง จนมาสะดุดใจผมในประโยคที่ว่า “เฮ้ย..ทำไมวันนี้แต่งตัวแนวนี้มา  รู้ป่าวว่ายุคนั้นน่ะแต่งตัวคล้ายๆ แขกแบบนี้ด้วยนะ”  จากคำพูดของเพื่อน ทำให้ผมนึกถึงเมื่อเช้าตอนเลือกเสื้อผ้า  มันก็แค่อยากใส่เลยเลือกออกมา  แต่มันกลับพอดีไปได้  เออแล้วทำไมเราถึงชอบเสื้อผ้าแนวนี้  ในเมื่อมันก็มีตั้งหลายแนวให้เลือก..ผมคิดในใจไปคนเดียว

เราขับรถกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงพื้นที่ว่างที่หนึ่ง  ไม่ห่างจากตัวเมืองนครปฐมเท่าไหร่นัก  ดูเหมือนเคยเป็นไร่ของชาวบ้านมาก่อนเพราะมีร่องรอยการเพาะปลูกให้สังเกตได้

ผมเห็นเด็กนักศึกษากำลังขุดอะไรกันอยู่  แบ่งกันออกเป็นกลุ่มๆ  หลายจุด  บางส่วนก็นั่งพักในเพิงเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางเนินดิน  จากที่สอบถามมาการที่จะได้พื้นที่ในการขุดสำรวจสักแห่งไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่มักกลัวจะสูญเสียที่ดินทำกินไป  ที่ได้มาง่ายๆ  ส่วนมากเจออาถรรพ์มาแล้วทั้งนั้น  แต่ที่ๆ  นักศึกษาขุดกันอยู่นี่เค้าอนุญาตแล้ว  ก็ยังไม่ได้สืบว่าทำไมให้มาง่ายดายนัก อาจจะเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจดีก็เป็นได้…ผมมองว่าอย่างนั้นนะ

“เอ้า…เด็กๆ  นายทุนของพวกเรามาแล้ว” ผมได้ยินประโยคนี้จากปากเพื่อน  ผมงี้สะดุ้งเฮือก  โดนมัดมือชกสะแล้วเรา 555  แล้วก็ส่งยิ้มให้เด็กๆ  เป็นกำลังใจให้ไป
“คุณอิงข่าน  อยากมาดูพวกเราทำงาน  เผื่อว่าจะเพิ่มเงินสนับสนุนในการสำรวจให้กับพวกเราจะได้ทำงานกันสบายๆ”  แหมแต่ละคำที่เพื่อนผมพูดนี่  มันช่างสุดยอดดีแท้  ผมงี้ก็ยิ้มไปสิครับ  เด็กๆ ก็ปรบมือกัน
เกรียวกราว..ส่วนผมก็คิดในใจ (เมิงถามกุยัง  ไม่ให้มีทางถอยเลยนะคุณเพื่อน)

พอดีผมหันไปเห็นรถแบคโฮกำลังจ้วงขุดอะไรอยู่เลยได้จังหวะถาม “เออแล้วทางนั้นเค้าขุดอะไร”
ได้คำตอบว่า “ส่วนนั้นเป็นของเจ้าของที่นี้แหละ  แต่เค้ากันไว้สร้างบ้านเลยไม่ได้ให้  ก็เสียดายอยู่นะ  มันอาจจะมีของข้างใต้นั้นก็ได้  ขุดแบบนั้นของเสียหายพังหมด”  ดร.เอนก พูดด้วยความเสียดาย แล้วก็ชวนมาดูของที่ขุดได้กันต่อ…

ตอนนี้เราเจอเศษกระเบื้องดินเผากระจัดกระจายไปทั่ว  คาดว่าที่แถบนี้น่าจะเคยเป็นแหล่งชุมชนมาก่อน เศษดินเผาพวกนี้มีลักษณะเฉพาะ  ทำให้สันนิษฐานคร่าวๆ ได้  ว่าน่าจะอายุประมาณเท่าไหร่  ส่วนมากที่เจอตอนนี้เป็นเศษภาชนะดินเผา ที่เราเรียกกันว่า  หม้อมีสัน  หม้อแบบนี้จะนิยมทำในยุคทวารวดี  ที่นักวิชาการรุ่นก่อนๆ  ได้สำรวจกันมาแล้ว  ซึ่งที่เราเจอก็สอดคล้องกันพอดี  ดังนั้นถ้าเราขุดไปเรื่อยๆ  อาจจะเจอลูกปัด  เหรียญ  หรือตะเกียงอะไรพวกนี้ก็เป็นได้  เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่การค้าคึกคักมีทั้งอินเดีย  จีน  เปอร์เซียเข้ามาติดต่อค้าขายกับเรา

…เออ  จะว่าไปแล้ว  ชื่อนายกับการแต่งตัววันนี้ก็ดูจะเข้ากันดีกับยุคนั้นนะ  แสดงว่าอาจมีส่วนเชื่อมโยงถึงกันก็ได้นะ เพราะมันเป็นสัญญะอย่างหนึ่งที่ดูได้ว่าเราเกี่ยวพันกับอะไร  เราก็มักจะทำอะไรสอดคล้องโดยที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม…นายเคยลองสังเกตบ้างมั้ย  ว่าทำไมเราต้องชื่อนี้  นามสกุลนี้  ชอบการแต่งตัวแบบนี้  เกิดมาในตระกูลลักษณะแบบนี้  และมาเจอเรื่องราวต่างๆ  ที่เหมือนจิ๊กซอต่อกันไปเรื่อยๆ…ถ้าไม่เคยก็ลองย้อนดูร่องรอยดูแล้วอาจจะเห็นตัวเองก็เป็นได้…ดร.เอนก อธิบาย  และฝากให้ไปคิดอีก

ผมได้ฟังก็คิดตาม  มันก็จริงคนเราบางที่มันก็น่าคิดทำไมต้องเป็นแบบนั้น  ต้องเจอแบบนี้ แล้วที่คิดหนักเลยตอนนี้..กุมายืนที่นี่เพื่อ!!!!!  แต่เดี๋ยวค่อยคิดต่อละกัน  ยืมรถไปขับเที่ยวแถวนี้ดีกว่า  ว่าแล้วผมก็ขอยืมกุญแจรถเพื่อนมาและขับออกไปแถวๆ นั้น

ขับมาเรื่อยๆ  จนมาเจอกลุ่มชาวบ้าน  ก็ลงไปทักทายตามประสา “สวัสดีครับ คุณลุง คุณป้า ผมมากจากกรุงเทพ  มาเที่ยวดูที่แถวๆ นี้ เห็นว่ามีของโบราณใต้ดินเยอะ” ผมพูดพร้อมส่งยิ้มให้
“มาจาก กรมศิลปรึ  อย่ามาเอาที่พวกเราไปเลยเราอยู่กันมานานแล้ว  ถ้าเอาไปก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหนกันแล้วครับคุณ” คุณลุงรีบออกตัวทันที
“ป่าวครับ..ผมมาศึกษา มาเที่ยวดูเฉยๆ”  พอดีผมเหลือบไปเห็นลูกปัดที่คอคุณป้าเลยรีบเปลี่ยนเรื่อง “คุณป้าครับลูกปัดนี่แถวนี้  เค้าขายกันเหรอครับ”
“อ่อ..ลูกปัดทวารวดี  นี่นะเหรอลูก  ป้าขุดเอาตามท้องไร่ท้องนาเจอทีละเม็ดสองเม็ด  ก็เอามาร้อยเก็บไว้เรื่อยๆ  น่ะ  พ่อหนุ่มจะมาหาซื้อหรือ”  คุณป้าถาม
“ไม่หรอกครับเห็นสวยดีน่ะครับ”
“ลูกปัดนี่ใส่ได้ทั้งหญิงทั้งชายนะ  เอามั้ยเดี๋ยวลุงให้” ผมยิ้มรับความใจดีของคุณลุง  แต่ก็ไม่ได้ตอบไปว่าเอาหรือไม่เพราะพอดีว่า  มีเสียงตะโกนมาแต่ไกลจากคนงานแถวนั้นว่าขุดเจออะไรบางอย่าง  แล้วคุณลุงกับคุณป้าก็วิ่งไปดู  ผมเลยได้ที่ขอตามไปด้วย

ของที่ขุดขึ้นมาได้ก็คล้ายๆ  กับตรงที่เพื่อนผมเจอนั่นแหละครับ  ต่างกันก็ตรงที่มันมีอะไรบางอย่างสะท้อนเข้าตาผมพอดี  ผมเลยเข้าไปเอามาดู  ทุกคนก็มามุงดูของชิ้นนั้น…มันเป็นเหมือนเศษแก้วดูคล้ายๆ  คอขวด  พอกระทบแดดก็เลยสะท้อนแสงเข้าตา
“เศษแก้วเหรอ  งั้นไม่เก่าหรอกไปหาอย่างอื่นดีกว่า”  คุณลุงบอกกับคนอื่นๆ
ผมก็เลยเดินสำรวจรอบๆ  หลุมที่ขุดนั้น  เด็กก็ขมักเขม้นในการหาลูกปัดและของมีค่าต่างๆ  ใส่แยกๆ กันไว้ หลุมนี้ลึกสักสองเมตรเห็นจะได้  ผมเดินดูๆ  ไปเค้าก็ได้ของกันเยอะพอควร  แต่เศษแก้วที่ผมกำในมือนี่สิกลับทำให้รู้สึกแปลกๆ  จนต้องเอ่ยปากขอคุณลุง
“ลุงครับ  ผมขอเศษแก้วนี้ได้มั้ยครับ”
“พ่อหนุ่มจะเอาไปทำไม  มันไม่มีอะไร  จะเอาก็เอานี่ไปดีกว่าพวกลูกปัดนี่เดี๋ยวลุงแบ่งให้”
“ไม่เป็นไรครับ  ผมขออันนี้เป็นที่ระลึกพอแล้วครับ  ขอบคุณมากครับคุณลุง”  แล้วผมก็กลับทันทีกลัวคุณลุงเปลี่ยนใจ 55

พอผมขับรถกลับมาถึงตรงที่นักศึกษาสำรวจกันอยู่  ก็ถามหา ดร.เอนกทันที  กะว่าจะเอาเศษแก้วไปให้ดู  พอเจอตัวผมก็ยื่นให้ทันที
“ดูให้หน่อย”  ผมบอก
“อะไรของนายไปได้ไรมา”
“เศษแก้วจากหลุมที่เค้าขุดกันทางนู้นน่ะ  แต่คุณลุงที่ให้เค้าบอกว่าเป็นของใหม่นะ แค่เรารู้สึกแปลกๆ ตั้งแต่แรกเห็น เลยขอมาน่ะ”  ผมบอกเพื่อนไปตามนั้น  แล้ว ดร.เอนกก็เอามาส่องอยู่พักใหญ่แล้วเอ่ยขึ้นมาว่า
“นายได้มายังไง  ถ้าจะให้บอกเอาตรงๆ  เราสันนิษฐานว่า  มันไม่น่าจะใหม่อย่างที่คุณลุงคนนั้นบอก  มันน่าจะเป็นขวดน้ำหอมของเปอร์เซียที่แพร่เข้ามาในยุคทวารวดี  คือเมื่อสักประมาณพันปีก่อน  คงจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ของสาวๆ  ยุคนั้น…ก็ว่าแล้วที่ดินแถวนี้น่าจะมีของใต้ดินเยอะ  ถึงเสียดายไง  แต่ช่างเถอะขอยืมไปให้เด็กๆ  ดูก่อนนะเดี๋ยวมาคืน”  แล้วก็เดินไปเลย  ทิ้งผมให้ยืนงงๆ  คนเดียว

เศษขวดน้ำหอมเหรอ  กลิ่นมันจะติดในแก้วได้ขนาดนั้นเลยเหรอ ผมคิดอยู่คนเดียวเพราะผมได้กลิ่นกุหลาบอ่อนๆ  โชยมาตั้งแต่ในรถ  แล้วมาถึงยังได้คำตอบว่าเป็นเศษแก้วจากขวดน้ำหอมพันปี  แต่ทำไมตอนที่เอนกส่องไม่เห็นพูดถึง…หรือว่าเราจะได้กลิ่นคนเดียว!!!

ทวารวดี.jpgเศษแก้วพันปีจะมีกลิ่นจริงหรือ
หรือแค่เพียงอิงข่านมโนไปเอง

โปรดติดตามตอนต่อไป

-ญาตา-

Link : เสี้ยวหนึ่งในทวาปุระ Ep.2  Link : เสี้ยวหนึ่งในทวารปุระ Ep.4

2 responses to “เสี้ยวหนึ่งในทวารปุระ Ep.3”

  1. […] Link : เสี้ยวหนึ่งในทวารปุระ Ep.3 […]

  2. […] Link : เสี้ยวหนึ่งในทวารปุระ Ep.1  Link : เสี้ยวหนึ่งในทวารปุระ Ep.3 […]

Leave a Reply

%d bloggers like this: