ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ( Influenza A (H1N1) เป็นโรคที่แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน พบที่ประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา แล้วแพร่ไปยังอีกหลายประเทศ และล่าสุดพบระบาดในประเทศไทย กลุ่มช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ วัยเด็กเล็กและวัยอนุบาล
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ Aเกิดจากเชื้ออะไร
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/H1N1) เป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน สุกร และนก
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ Aติดต่ออย่างไร
การแพร่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นได้ง่าย เกิดจากถูกผู้ป่วยไอจามรดโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายในระยะ 1 เมตร เนื่องจากเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อม ผ่านทางมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา ปาก ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรก จะแพร่เชื้อได้มากที่สุด ระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน
อาการเมื่อรับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส1-3 วัน น้อยรายที่นานถึง 7 วัน อาการป่วยใกล้เคียงกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล อาการจะทุเลา และหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปวดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
การรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) เป็นยาชนิดรับประทาน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วันหลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาดี
ผู้ป่วยที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ ตัวไม่ร้อนจัด และยังรับประทานได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลิกนิก หรือขอรับยา และคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้าน ได้โดย…
- รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ วิตามิน เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ ด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
- ดื่มน้ำสะอาด และน้ำผลไม้มากๆ งดดื่มน้ำเย็น
- พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้มาพอเพียง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไข่ ผัก ผลไม้ เป็นต้น
- ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ ยกเว้น ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งต้องรับประทานยาจนหมด ตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา
- ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A/H1N1 การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- หากต้องการดูแลผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากอนามัย และให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยด้วย หลังดูแลผู้ป่วยทุกครั้ง ควรรีบล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ให้สะอาดทันที
- ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
- ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ไอ จาม
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งไข่ นม ผัก และผลไม้ ดื่มน้ำสะอาด และนอนหลับให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบุหรี่ และสุรา
การป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อ
- หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรหยุดงาน หยุดเรียน เป็นเวลา 3-7 วัน ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น
- สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่กับผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูก ปาก ทุกครั้งที่ไอ จาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่
Cr : http://www.mamaexpert.com/posts/content-2691
อ้างอิง :
- ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล :ผศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ . ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่.เข้าถึงได้จาก http://www.sc.mahidol.ac.th/scalumni/tha/text/H1Nhtm [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
- สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข .โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal Influenza). เข้าถึงได้จากhttp://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/th/diseases/253. [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
- Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลภาควิชาจุลชีววิทยา . ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ , ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ .ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ . รู้จัก”ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A H1N1” (ไข้หวัดเม็กซิโก).เข้าถึงได้จาก .http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=747 . [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
- มารู้จักเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Flu) กันเถอะ .เข้าถึงได้จากhttp://medicarezine.com/2009/10/let-learn-flu/ . [ค้นคว้าเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560].
Leave a Reply